หลังจากสร้างความสับสนแล้วก็มีย่อหน้าอันบิดเบือนต่อมานี้ ในนิยาย

"ที่ร้ายกาจไปกว่านั้นคือพระแม่มารีในภาพทรงยกหัตถ์ขึ้นเหนือศรีษะทารกจอห์นด้วยท่าทางเห็นชัดว่ากำลังขู่ นิ้วของพระแม่กางออกเหมือนกรงเล็บเหยี่ยว เหมือนกำลังจับศีรษะใครที่มองไม่เห็น และประการสุดท้ายเป็นภาพที่เห็นชัดเจนที่สุดและน่ากลัวที่สุด คือเบื้องล่างนิ้วที่งองุ้มของพระแม่มารี เทพยูเรียลทำมือเหมือนกำลังเชือดคอใครที่มองไม่เห็นในอุ้งหัตถ์ดุจกรงเล็บของพระแม่มารี"

ความเป็นจริง-ซึ่งที่จริงแล้วถ้าจะง้างมือเพื่อที่จะประทุษร้ายใครหรือข่มขู่ใครแล้วอุ้งมือหรือการทำมือของคนปกติสามัญทั่วไปก็น่าจะเป็นไปดั่งภาพที่แสดงนี้

แต่ทว่านี่มันคือท่าทางการปกมือ ที่แสดงถึงการอวยพรของคริสต์ศาสนาต่างหากซึ่งเป็นท่าทางพื้นๆทางศาสนา ที่บรรดาบาทหลวงทำกันมาตั้งแต่สมัยพระเยซู โดยเฉพาะกรณีผู้มีอายุเยอะทำต่อผู้มีอายุน้อย

1ทธ 4:14
จงอย่าละเลยพระพรพิเศษที่มีอยู่ในท่าน พระพรซึ่งเป็นของประทานให้ท่านเมื่อมีการประกาศพระวาจาเลือกสรรท่านและ บรรดาผู้อาวุโสได้ปกมือเหนือท่าน

จากการวิจารณ์ภาพของท่าน ร.ศ.อัศนีย์ ชูอรุณ คณบดีคณะศิลปกรรม สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล อนุกรรมการบัญญัติศัพท์ศิลปะ ราชบัณฑิตยสถาน

"ภาพ “พระแม่มารีแห่งหินผา” แบบฉบับหลังนี้ จึงมีแนวความคิดแตกต่างจากแบบฉบับแรกหลายประการ ทั้งๆ ที่มีรูปแบบการจัดองค์ประกอบศิลปะคล้ายคลึงกันมากก็ตาม แต่สิ่งที่ยังคงมีอยู่เหมือนกันในภาพทั้ง ๒ แบบก็คือการแสดงบทบาทของพระแม่มารีในฐานะเป็นผู้พิทักษ์คุ้มครองอันสังเกตได้จาก ลักษณะเสื้อคลุมที่แขนของพระแม่ทางด้านซ้าย ได้รับการเน้นถึงการโอบอุ้มคุ้มครองนักบุญจอห์นผู้เป็นทารก ส่วนมือของพระแม่ทางด้านขวาที่เหยียดฝ่ามือคว่ำลงเหนือศีรษะพระคริสต์ผู้เป็นทารก ก็ย้ำเน้นถึงการพิทักษ์คุ้มครองเป็นพิเศษ นัยว่าบทบาทของพระแม่มารีเช่นนั้นมิได้หมายถึงเพียงการพิทักษ์คุ้มครองพระคริสต์และนักบุญจอห์นผู้เป็นทารกเท่านั้น หากแต่รูปทารกทั้งสองเป็นตัวแทนของผู้คนทั้งหลายที่ต้องการการพิทักษ์คุ้มครองจากสวรรค์ ถือว่าเป็นเนื้อหาที่สำคัญยิ่งและไม่แตกต่างกันในภาพทั้งสองเลย"
อ้างอิง:-ศิลปะและอารยธรรม-ร.ศ.อัศนีย์ ชูอรุณ คณบดีคณะศิลปกรรม สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล อนุกรรมการบัญญัติศัพท์ศิลปะ ราชบัณฑิตยสถาน



และที่น่าสะดุด คือการอ้างชื่ออัครเทวดา ยูเรียล ในนิยาย เพราะโดยปรกติ อัครเทวดายูเรียล จะปรากฎในภาพที่พระเยซูเจ้ากลับคืนชีพแล้วเท่านั้นครับ ส่วน ลีโอนาร์โดเองไม่ได้ระบุในบันทึกว่า ทูตสวรรค์องค์นี้คือเทวดาชื่ออะไร อาจเป็นแค่เทวดาอารักขาทั่วไปก็ได้

แต่เราคงเริ่มสงสัยว่าเทวดาองค์นี้ชี้ทำไม ซึ่งนิยายได้ชี้นำว่าเป็นการปาดคอ(อีกแล้ว)

แต่ที่จริงแล้ว นี่คือการนำสายตา ซึ่งเป็นทฤษฎีทางศิลปะขั้นพื้นฐาน และยังมีนัยสำคัญคือต้องการชี้ไปที่ทารกยอห์น มาอ่านข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญกันต่อดีกว่าครับ

"นักบุญจอห์นองค์นี้เอง ต่อมาได้ประกอบพิธี บัปติสมา (Baptism : ศีลล้างบาป) แก่พระคริสต์ ท่านรับการยกย่องว่าเป็นศาสดาพยากรณ์องค์สุท้ายในคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม และเป็นนักบุญองค์แรกในคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ นักบุญจอห์นจึงมีความสำคัญมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งใน นครฟลอเรนซ์ที่เลโอนาร์โดเคยอยู่มาตั้งแต่เล็กนั้นนับถือนักบุญจอห์นว่าเป็นนักบุญองค์อุปถัมภ์ นครอีกด้วย ดังนั้นเลโอนาร์โดจึงจงใจเขียนภาพนี้ให้มุ่งความสนใจไปที่นักบุญจอห์นมากเป็นพิเศษ"

อ้างอิง:-ศิลปะและอารยธรรม-ร.ศ.อัศนีย์ ชูอรุณ คณบดีคณะศิลปกรรม สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล อนุกรรมการบัญญัติศัพท์ศิลปะ ราชบัณฑิตยสถาน

ดังนั้น ภาพแรกที่ลีโอนาร์โด วาดที่ฟลอเรนส์ จึงมีการชี้นิ้วอย่างชัดเจน แต่ในขณะเดียวกันเมื่อเขามามิลาน ชาวมิลานไม่ได้คุ้นเคยกับนักบุญยอห์นเหมือนที่ฟลอเรนส์ ดังนั้น ทูตสวรรค์ จึงลดการเน้น จากการชี้นิ้วเหลือแค่ชำเลืองมอง และนักบุญยอห์น นั้น ก็ถือไม้เท้าหัวกางเขนเพิ่ม เพื่อเน้นความเป็นตัวท่านต่อชาวมิลานซึ่งท่านไม่ได้เป็นที่รู้จักนับถือมากเท่าที่ฟลอเรนส์