ความจริงทางจิตวิทยา

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516 สมาคมจิตเวชศาสตร์แห่งอเมริกา ( American Pshchiatric Asociation) ได้ตัดคำว่า "รักร่วมเพศ" ออกจากคู่มือรายชื่อโรคที่เกี่ยวเนื่องกับความผิดปรกติทางจิตและอารมณ์ และสมาคมจิตวิทยาแห่งอเมริกา (American Psychological Association) ให้การสนับสนุนเรื่องนี้อย่างหนักแน่น ทั้งสองสมาคมเรียกร้องให้นักจิตวิทยาทั่วประเทศให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนเสียใหม่ ว่าโฮโมเซ็กช่วลไม่ได้เป็นความผิดปรกติทางจิตอย่างที่เคยเข้าใจกัน

สมาคมจิตวิทยาแห่งอเมริกาให้ความรู้แก่ประชาชน ว่า การที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งมีพฤติกรรมรักร่วมเพศนั้น มิใช่เป็นสิ่งที่บุคคลนั้นเลือกได้เสมอไป เช่นเดียวกับพฤติกรรมรักต่างเพศหรือกลุ่มคนที่สังคมให้การยอมรับว่าเป็นปรกตินั้น ก็มิได้เป็นสิ่งที่พวกเขาสามารถเลือกเองได้เช่นกัน ความสนใจในเพศเดียวกัน ต่างเพศหรือทั้งสองเพศเกิดขึ้นได้อย่างไรนั้น ยังไม่เป็นที่กระจ่างชัดนักต่อนักวิทยาศาสตร์ มีหลายทฤษฎีที่เสนอสาเหตุที่แตกต่างกันไป บ้างก็ว่าเกิดจากพันธุกรรมหรือจากปัจจัยของฮอร์โมนที่มีมาแต่กำเนิด บ้างก็ว่าเป็นเหตุของสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ อย่างไรก็ดี นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากเห็นพ้องต้องกันว่าความสนใจทางเพศนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นๆ ของชีวิต ผ่านทางปฏิสัมพันธ์รวมไปถึงปัจจัยที่ซับซ้อนอื่นๆทางชีววิทยา จิตวิทยาและสังคมวิทยา