๒.ทรงสอนว่าความรอดทำให้มนุษย์เป็นอิสระ

“เพราะว่าพระเจ้าทรงรักโลกจนได้ทรงประทานพระบุตรองค์เดียวของพระองค์ เพื่อทุกคนที่วางใจในพระบุตรนั้นจะไม่พินาศแต่มีชีวิตนิรันดร์” (ยอห์น ๓.๑๖ )

มนุษย์ทุกคนเป็นศูนย์กลาง หรือกลุ่มเป้าหมายของความรอด พระองค์ทรงประทานความรอดให้มนุษย์ทุกๆคนอย่างยุติธรรมกับมนุษย์ทั้งโลก ดังนั้นทุกคนสามารถรับความรอดได้ภายใต้เงื่อนไขเดียวกัน มนุษย์ไม่ต้องบนบาน หรือเซ่นไหว้ หรือติดสินบนใดๆ เงื่อนไขคือ “....วางใจในพระบุตรนั้นจะไม่พินาศ”

ความรอด: เป็นพระราชกิจของพระเจ้า มนุษย์มิอาจช่วยตัวเองให้พ้นจากกับดักบาปได้ มีพระเจ้าผู้เดียวที่สามารถช่วยเราให้หลุดพ้นได้ ในพระคัมภีร์ใหม่ คำว่า รอด เป็นกริยาในรูปอดีตกาล ปัจจุบันกาล และอนาคตกาล พระเจ้าได้ส่งพระเยซูเข้ามาในโลกเพื่อ “ ช่วยชนชาติของท่านให้รอดจากความผิดบาปของเขา” บาปถูกจัดการโดยการสิ้นและคืนพระชนม์ของพระเยซู โดยความเชื่อในพระเยซูเราก็สามารถรับความรอดทันที ซึ่งของขวัญนี้ให้ทุกคนเปล่าๆ ไม่ว่าพื้นเพทางศาสนาเชื้อสายหรือฐานะทางสังคมจะเป็นอย่างไร

เพราะว่า “ผู้ที่ร้องออกพระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้าจะรอด” คริสตชนได้รับ “ความรอด” แล้วเพราะได้รับการอภัยโทษและชีวิตใหม่ แต่เรายังมิได้บรรลุถึงความรอดอันบริบูรณ์จนกว่าจะถึงยุคสุดท้ายที่พระเยซูเสด็จกลับมาอีกครั้งหนึ่ง แต่ขณะที่รอคอยนี้เราได้รับ “ความรอด” ทุกๆ วัน

ในพระคัมภีร์เก่าความรอดมิได้หมายถึงแค่ความรอดด้านวิญญาณจิต พระราชกิจแห่งความรอดอันสำคัญที่สุดคือครั้งที่พระเจ้าปลดปล่อยคนอิสราเอลพ้นจากการเป็นทาสในอียิปต์ พระคัมภีร์ใหม่สอนว่าความรอดของพระเจ้ามีผลไม่เพียงต่อชีวิตจิตวิญญาณเท่านั้น แต่เกี่ยวข้องกับชีวิตทุกด้านด้วย ข้อความที่เกี่ยวข้องกับความรอดในพระคัมภีร์ใหม่มีถึงหนึ่งในสามที่กล่าวเจาะจงถึงการรอดพ้นจากความโชคร้าย เช่น การจองจำ โรคภัยไข้เจ็บ และการถูกผีสิง เมื่อผู้ใดมาเป็นของพระคริสต์ ความรอดของพระองค์จะมีผลต่อชีวิตทั้งด้านร่างกายและจิตวิญญาณของเขา ทว่ายังจะไม่บรรลุผลสมบูรณ์จนกว่าพระเยซูเสด็จกลับมาอีกครั้งหนึ่ง ( ดูเทียบจากมธ. ๑:๒๑; อฟ. ๒.๘-๙; รม.๑๐.๑๓,๑๓.๑๑; ๑ คร.๑.๑๘; ฟป.๒.๑๒; มธ.๙.๒๑-๒๒; ลก.๘.๓๖ )

ความรอด ทำให้มนุษย์เป็นไท ในสมัยที่พระเยซูเจ้าทรงทำพันธกิจคนยิวตกเป็นทาสของจักรวรรดิโรม พวกเขาพยามเคร่งครัดในการรักษาธรรมบัญญัติ เพื่อจะเป็นคนดีพร้อม สำหรับเรื่องความรอดแล้ว ไม่มีใครดีพร้อมที่จะปลดปล่อยตัวเองจากการเป็นทาสของความบาป ที่นำไปสู่ความตายนิรันดร์ ยกเว้น คนที่ยอมรับการช่วยเหลือ จากชายที่ชื่อ เยซู เพราะว่า “พระเยซูคริสต์ทรงเป็นทางนั้น ทรงเป็นความจริง และทรงเป็นชีวิตไม่มีใครไปถึงพระบิดาเจ้าได้นอกจากทางพระเยซูคริสต์” คือไม่ต้องตกเป็นทาสของความบาป เป็นอิสระ มีเสรีภาพ พ้นจากการพิพากษาลงโทษเพราะบาป ได้รับเสรีภาพนิรันดร์ ฝ่ายวิญญาณจิตไม่ต้องตาย

ผู้เขียนมีโอกาสไปเยี่ยม เพื่อน และหาข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ที่ประเทศกัมพูชาสองครั้ง ทุกครั้งตลอดเวลาที่ พำนักที่นั่นได้รับฟังเรื่องราวความทุกข์ยาก ความเจ็บปวดจากบาดแผลของสงครามกลางเมือง ตลอดเวลา ๒๕ ปี มีการเข่นฆ่า ทารุณกรรมมากมาย ฉันสนใจมากเป็นพิเศษคือช่วงการปกครองของ นายพลพต โดยเฉพาะกรณีทุ่งสังหาร และ มีโอกาสฟังเรื่องเล่าจากสุภาพสตรีเชื้อสายจีน-ขะแมร์ ท่านหนึ่งเล่าถึงครอบครัวของเธอ เองและของคริสเตียนท่านหนึ่งที่พำนักในประเทศไทย ( ซึ่งเมื่อฉันพักในพนมเปญทุกครั้งท่านจะอำนวยความสะดวกเรื่องพาหนะจัดรถและคนขับไว้บริการ ) เรื่องมีอยู่ว่า มีครอบครัวชาวเขมรเชื้อสายจีนสองครอบครัวทำธุรกิจที่เมืองไพลิน ธุรกิจไปได้ดี ฐานะร่ำรวย หัวหน้าครอบครัวทั้งสองฟังข่าวกรองว่า ปีนั้น ( ค.ศ. ๑๙๗๕ )ช่วงสงกรานต์กองทัพเขมรแดงจะบุกทุกเมืองใหญ่ ขณะนั้นบ้านเมืองสงบ ประชาชนสนุกสนานรื่นเริง หัวหน้าครอบครัวแรก (ฉันรู้จักเพราะนมัสการที่คริสตจักรหนึ่งในกรุงเทพฯ ) เชื่อว่าเป็นเรื่องจริง เขา และพี่ๆน้องๆได้เก็บทรัพย์สินที่มีค่าอพยพมาที่ประเทศไทย ส่วนพี่น้องคนอื่นๆอพยพไปที่ประเทศฝรั่งเศสและประเทศออสเตรเลีย ส่วนอีกครอบครัวหัวหน้าครอบครัวไม่เชื่อข่าวนั้น เพราะบ้านเมืองสงบมาก การทำมาหากินไปได้ดี ในที่สุดเมื่อ วันที่ ๑๗ เมษายน ๑๙๗๕ กองทัพเขมรแดงของนายพลพต เข้าล้อม โจมตีเมืองใหญ่ ทุกอย่างสายไปเสียแล้ว พวกเขาถูกต้อนออกจากเมืองไปชนบท ตลอดเวลา ๕ ปี เกิดการสูญเสียมากมาย เช่นเขาสูญเสียภรรยาเพราะเจ็บป่วยไม่ได้รับการรักษา ลูกบางคนติดคุก บางคนถูกกักกันและต้องทำงานหนักมาก ในปี ๑๙๗๙ เมื่อทหารของเวียดนามเข้าปกครองเขมรแทนกองทัพเขมรแดง ครอบครัวนี้สามารถลี้ภัยเข้าศูนย์อพยพในประเทศไทย และต่อมาได้อพยพไปประเทศที่ ๓

เมื่อฟังเรื่องจริงของชาวเขมรเชื้อสายจีน สองครอบครัวนี้จบ ทำให้ฉันคิดถึงความรอดในพระเยซูคริสต์ ซึ่งพระองค์ ทรงสั่งสอนเรื่องนี้ด้วยพระองค์ เอง และด้วยชีวิตจริง คือ ความตายบนไม้กางเขน ก่อนสิ้นพระชนม์ พระองค์ประกาศว่า “สำเร็จแล้ว” เพราะความตายของพระเยซูคริสต์ในวันนั้น คือการลบล้างความผิดบาป เพื่อมนุษย์จะได้รับความรอด และชีวิตนิรันดร์ ตามเงื่อนไข คือ คนที่เชื่อ และวางใจ ( เชื่อ )จะไม่พินาศ แต่มีสักกี่คนที่เชื่อว่า “ข่าวดี”คือ การวายพระชนม์ของพระเยซูคริสต์นั้นมีผลต่อการอภัยบาปและผู้เชื่อพระองค์ได้รับความรอดเข้าส่วนในชีวิตนิรันดร์นั้นเป็นความจริง

 

( ตีพิมพ์ในอิสระรายปักษ์ ปักษ์หลัง เดือน มกราคม 2005 )

และ
http://www.issara.com/article/jesusteach.html