สรุป: ศาสนาและวิทยาศาสตร์ไม่ขัดแย้งกัน

วิทยาศาสตร์และศาสนามีบทบาทเป้าหมายและวิธีการที่แตกต่างกัน ถ้าหากว่าเรายอมรับความแตกต่างนั้น ไม่มีปัญหาที่จะทำให้ความรู้หรือความคิดทั้งสองอย่างนี้เข้ากันได้ เริ่มมีปัญหาและการขัดแย้งกัน เมื่อใช้วิธีการของระดับหนึ่ง เพื่อจะอธิบายหรือตอบคำถามของอีกระดับหนึ่ง เราขอเปรียบเทียบกับรถยนต์และคนขับรถ ระบบเครื่องและโครงสร้างของรถยนต์เป็นเรื่องหนึ่ง และการใช้หรือการขับรถเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าเกิดมีอุบัติเหตุเพราะความผิดของคนขับรถ ไม่ควรจะโทษผู้สร้างรถหรือระบบเครื่อง สาเหตุของอุบัติเหตุคือคนที่ขับรถไม่ชำนาญหรือขับรถไม่เป็น ตรงกันข้ามมีบางกรณีที่อุบัติเหตุเกิดขึ้น เพราะสภาพของรถไม่ดี ผู้ที่ขับรถอาจจะมีความสามารถและความชำนาญมาก แต่อุบัติเหตุคงเกิดขึ้นเพราะว่ามีข้อบกพร่องในระบบเครื่องหรือโครงสร้างของรถยนต์ ในกรณีนี้เราจะโทษคนขับรถไม่ได้ ความผิดอาจจะอยู่ที่ผู้สร้างรถหรือช่างซ่อมรถ เครื่องยนต์และการขับรถเป็นสองระบบที่แตกต่างกัน ถ้าเราเห็นคนหนึ่งที่ขับรถไม่เป็นพบกับอุบัติเหตุรุนแรงเมื่อขับรถเบนซ์ และเราสรุปว่ารถเบนซ์ ไม่มีคุณภาพ แน่นอนเราคงสรุปผิดแล้ว เมื่อบางคนใช้ข้อมูลของวิทยาศาสตร์เพื่อปฏิเสธคุณค่าของศาสนาหรือการมีอยู่ของพระเป็นเจ้า เขาสรุปผิดเช่นเดียวกัน

เพราะฉะนั้นจำเป็นต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับบทบาทและวิธีการเฉพาะของทั้งสองระดับ
นักปรัชญาบางคนไปตามรูปแบบของ Feuerbach หรือพวกปฏิฐานนิยมและถือว่าศาสนาหรือพระเป็นเจ้าเป็นหนทางให้คำตอบสำหรับปัญหาที่วิทยาศาสตร์ตอบไม่ได้ แต่ทัศนคติแบบนี้เป็นการเข้าใจผิดเกี่ยวกับศาสนาเป็นการใช้ศาสนาเพื่อชดเชยความจำกัดของวิทยาศาสตร์ แต่ศาสนาไม่เป็นอย่างนี้

แนวคิดของบุคคลนิยมช่วยให้พ้นจากปัญหาแบบนี้ วิธีการของนักปรัชญาบุคคลนิยม ไม่ได้พยายามใช้วิทยาศาสตร์เลย จุดเริ่มอยู่ที่มนุษย์เอง มนุษย์ในฐานะที่เป็นบุคคลมีคุณลักษณะอย่างไรบ้าง มีอะไรที่เป็นส่วนประกอบหรือเงื่อนไขสำหรับการดำเนินชีวิตเป็นมนุษย์ วิธีนี้เป็นการเปิดหนทางนำไปสู่ศาสนา เพราะว่าชีวิตมนุษย์ไม่เป็นเพียงแต่เรื่องชีววิทยา ชีวิตเป็นข้อลึกลับชนิดหนึ่งที่ต้องมีความหมาย ต้องมีเป้าหมายที่อยู่นอกวงของกายภาพ ในอีกแง่หนึ่ง บุคคลนิยม ( G. Marcel, E.Mounier, P.Ricoeur) สังเกตว่า การดำเนินชีวิตคือการพัฒนามุ่งไปถึงความสมบูรณ์ มนุษย์แต่ละคนยังขาดความสมบูรณ์ครบครันในการเป็นบุคคลคือในความรู้ ในเสรีภาพการเป็นตัวของตัวเอง และความสมบูรณ์ครบครันนี้จะเกิดมาไม่ได้ ถ้าเราไม่ได้เปิดตัวเอง สัมพันธ์กับผู้อื่น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจำเป็นต้องสัมพันธ์กับผู้ที่สมบูรณ์กว่ามนุษย์ ผู้ที่อยู่เหนือมนุษย์ เหนือโลก และที่สมบูรณ์อยู่แล้ว
แน่นอนแต่ละศาสนาจะเข้าใจผู้สมบูรณ์นี้ตามรูปแบบที่แตกต่างกัน อาจจะเรียกว่า "ธรรม" และ "นิพพาน" หรือจะเรียกว่า "พระเป็นเจ้า" แต่ทุกศาสนาบอกว่ามนุษย์ต้องสัมพันธ์กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือผู้ใดผู้หนึ่งที่อยู่เหนือมนุษย์เหนือโลก เป็นการตอบสนองความปรารถนาที่อยู่ลึก ๆ ในจิตใจของมนุษย์ และเป็นพละกำลังทำให้มนุษย์ดำเนินชีวิตมุ่งไปสู่ความสมบูรณ์ ที่นี่เราอยู่ห่างไกลจากเขตของวิทยาศาสตร์แล้ว แต่จำเป็นต้องขึ้นไปถึงระดับนี้เพื่อจะพบความหมายแท้ของศาสนา คือการมอบเป้าหมายสำหรับชีวิตมนุษย์

http://www.saengtham.ac.th/stbook/view.asp?id=207