๑. มารีย์ สาวพรหมจารีย์ ต้นแบบของกุลสตรี

นักศาสนศาสตร์สตรีโปรเตสแตนต์ ชาวอินโดนีเซีย อย่าง Marianne Katoppo มีความเห็นว่า มารีย์ สาวพรหมจารีย์ มีความหมายว่าเธอได้รับการปลดปล่อยจากบุรุษและมีเสรีภาพในการรับใช้องค์พระผู้เป็นเจ้า “พรหมจารีย์”ได้ให้เสรีภาพมารีย์ที่สามารถติดต่อกับพระเจ้าโดยตรง มารีย์จึงค้นพบคุณค่าของตัวเอง ว่าเธอเป็นใคร และเกิดมาเพื่อทำอะไรในโลกนี้

ความจริงแล้ว “พรหมจารีย์”คือ “ภาวะอิสระ” ของสตรี นั่นหมายถึงความเป็นสตรีทั้งหมดของมารีย์ที่เธอสามารถเปิดต้อนรับคนอื่นๆ ทางด้าน ดร.Park Soon Kyung นักศาสนศาสตร์สตรีเกาหลีใต้อีกคนหนึ่ง แย้งว่าพระกุมารเยซูประสูติจากสาวพรหมจารีย์ มีความหมายว่า “ เหตุการณ์กำเนิดของชีวิตใหม่ไม่มีบุรุษเกี่ยวข้อง” กำเนิดจากพรหมจารีย์คือการยุติบทบาททางสังคมที่ฝ่ายบิดามีอำนาจเหนือสตรี ส่วนศาสนศาสตร์แห่งการปลดปล่อยตีความหมายว่า “กำเนิดจากพรหมจารีย์”คือสัญลักษณ์ของพระเจ้าที่บอกกับบุรุษว่า พระองค์ทรงพิพากษาพวกเขาที่ได้กดขี่สตรี ในเหตุการณ์นี้พระเจ้าตรัสกับบุรุษเพศว่าการกดขี่สตรีเพศของพวกเขาได้สิ้นสุดลงแล้ว

กลับมาที่ด้านสตรีเพศ พวกเธอต้องเข้าใจว่า ความรอดของมนุษยชาตินั้นไม่มีบุรุษเพศก็เพียงพอ คริสตจักรโปรเตสแตนต์เน้นเรื่องพระกุมารกำเนิดจากหญิงพรหมจารีย์เป็นการอัศจรรย์ สะอาดบริสุทธิ์ ไม่เป็นมลทินเพราะความสัมพันธ์ทางเพศ หรืออีกนัยหนึ่งเราเชื่อว่าพระเจ้าทรงเลือกร่างกายของสตรีเพศเพื่อพระราชกิจที่ยิ่งใหญ่ของพระองค์ ดังนั้นมารีย์หญิงพรหมจารีย์ ได้พ้นอำนาจของบุรุษเพศ ตามคำสอนของบรรพชน โดยเธอมาอยู่ภายใต้อำนาจของพระเจ้า สาวน้อยพรหมจารีย์มารีย์มีเสรีภาพในการตัดสินใจ เธอจึงเป็นอิสระในการเลือกและตัดสินใจ เพื่อจะได้ถวายเกียรติแด่พระเจ้า มารีย์สาวพรหมจารีย์ จึงเป็นแบบของกุลสตรีที่ได้รับการปลดปล่อย และใช้ชีวิตที่มีคุณค่าและสูงส่ง เพื่อถวายเกียรติแด่พระเป็นเจ้า

๒. มารีย์ มารดาผู้ประเสริฐ:อุทิศชีวิตแด่พระเจ้า

มารีย์สาวพรหมจารีย์ คือสตรีที่กล้าหาญ เด็ดเดี่ยว เด็ดขาด เธอสามารถก้าวออกจากกรอบของธรรมเนียมหรือจารีตดั้งเดิมที่บุรุษเพศเป็นใหญ่ เธอเลือกที่จะให้กำเนิดชีวิตใหม่ที่มาจากน้ำพระทัยพระเจ้า นั่นคือเธอยอมออกจากอำนาจเดิมที่ฝ่ายบิดาเป็นผู้กุมชะตาและลิขิตชีวิตเธอ โดยเข้ามาอยู่ใต้อำนาจของพระเจ้า มอบชีวิตให้พระเจ้าทรงลิขิต การตัดสินใจของมารีย์เกิดขึ้นหลังจากฟังสารจากทูตของพระเจ้าว่าเธอนั้นเป็นที่โปรดปรานในสายพระเนตรของพระเจ้า พระองค์ทรงเลือกครรภ์ของเธอ เพื่อพระมหาไถ่ พระองค์ทรงเลือกเธอให้ทำหน้าที่เป็นมารดาเลี้ยงดูพระกุมารน้อยซึ่งเป็นบุคคลที่สำคัญยิ่ง ( ดู ลูกา ๑.๒๖-๕๖ )

เรื่องที่ทูตของพระเจ้าแจ้งแก่มารีย์ฟังง่ายแต่เข้าใจยากมาก แต่มารีย์กล้าหาญตัดสินใจทันที เพราะเธอมีความเชื่อและวางใจพระเจ้ามากกว่าสิ่งอื่นใด เธอเชื่อว่าทุกสิ่งเป็นไปได้เสมอสำหรับพระเจ้า เธอพร้อมที่จะอุทิศชีวิตทั้งใจและกาย เพื่อให้กำเนิดพระเมสสียาห์ เพราะเธอรู้ดีว่าพระเมสสียาห์ คือบุคคลพิเศษที่ชนชาติของเธอรอคอยมานานแสนนาน มารีย์สาวน้อยพรหมจารีย์มีจิตใจเปี่ยมไปด้วยความเมตตา เธอมีความไวต่อความรู้สึกของคนอื่น เธอต้องการช่วยชนชาติของเธอให้ได้รับการปลดปล่อย ดังนั้น เมื่อกาเบรียลทูตของพระเจ้าแจ้งข่าวว่าพระเจ้าทรงเลือกครรภ์บริสุทธิ์ของเธอ เพื่อให้กำเนิดพระเมสสียาห์ หรืออีกนัยหนึ่ง ทูตกาเบรียลบอกมารีย์สาวน้อยบริสุทธิ์ว่าพระเจ้าทรงเลือกเธอเป็นมารดา เพื่อฟูมฟักเลี้ยงดูพระกุมารน้อยที่เป็นพระเมสสียาห์ ฝ่ายมารีย์มีจิตใจพร้อมอุทิศทั้งชีวิตเพื่อคนอื่น ยิ่งพร้อมอุทิศเพื่อพระราชกิจของพระเจ้า สาวน้อยพรหมจารีย์ตอบรับทันทีโดยไม่ลังเลใจ ไม่ต้องเสียเวลาปรึกษาใครแม้แต่นิดเดียว เพราะมารีย์พร้อมอุทิศทั้งชีวิตเพี่อพระเจ้า เธอยินดีจะให้แผนการของพระองค์ที่ชาวยิวรอคอยมานานนั้นสำเร็จ และเข้าใจถึงเกียรติที่พระเจ้าวางใจเธอหรือโปรดปรานเธอ

๓. มารีย์ ในหน้าที่ของน้องสาว:ร่วมทุกข์กับสตรีอื่น

มารีย์มีจิตใจอ่อนโยนและสงสารคนอื่นอยู่เป็นทุนเดิมแล้ว ภาพที่เราเห็นชัดเมื่อเธอไปเยี่ยมญาติผู้พี่คือ อลิซาเบธซึ่งกำลังมีปัญหาเดียวกัน คืออลิซาเบธตั้งครรภ์ในวัยชรา ทางด้านกายภาพทั่วๆไปไม่น่าเป็นไปได้ ( ดูลูกา ๑.๕-๒๕ ) ฝ่ายมารีย์นั้นตั้งครรภ์จากฤทธิ์เดชของพระจิตเจ้า ทั้งสองคนอยู่ในสภาพเดียวกัน สตรีทั้งสองจึงจับมือกันเดินบนถนนสายใหม่ด้วยความกล้าหาญ เพราะตามธรรมเนียมของยิว พวกนางต้องเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ทว่าทั้งมารีย์และอลิซาเบธ เข้าใจซึ่งกันและกัน พวกเธอพร้อมใจกันเปิดใจ เผยชีวิต เพื่อพระจิตเจ้าทรงปฎิบัติพระราชกิจในชีวิตของพวกเธอได้

มารีย์ได้มาที่บ้านอลิซาเบธเพื่อปรับทุกข์และรับการปลอบใจ มารีย์คงอยากจะเล่าสิ่งแปลกๆที่เกิดขึ้นในตัวเธอ ส่วนอลิซาเบธคงอยากเล่าถึงพระราชกิจที่ยิ่งใหญ่ของพระเจ้าในครรภ์ชราของนาง ซึ่งหาคนเชื่อยาก ต่างฝ่ายต่างตะลึงถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกเธอ พระเจ้าทรงใช้ครรภ์ของพวกเธอ เพื่อแผนการแห่งความรอดที่มาถึงชนชาติอิสราเอล พวกเธอได้ต่อสู้กับตัวเองผ่านจุดของความหวาดกลัว ก้าวมาถึงจุดของการเห็นใจกัน พร้อมร่วมทุกข์กัน เพราะแท้จริงแล้วมารีย์คงจะอายโยเซฟคู่หมั้นของเธอ เพราะในสายตาของคนไม่เข้าใจแผนการของพระเจ้า ต้องคิดว่าเธอได้ทำผิดจารีตของการเป็นกุลสตรียิวที่ดี แต่วินาทีที่มารีย์ได้ยินคำทักของ อลิซาเบธว่า “เป็นไฉนข้าพเจ้าจึงได้รับความโปรดปรานเช่นนี้ คือมารดาขององค์พระผู้เป็นเจ้าได้มาหาข้าพเจ้า” ( ลูกา ๑.๔๓ ) มารีย์ได้รับคำยืนยันเกี่ยวกับฤทธิ์เดชของพระเจ้าจากพี่สาว จึงทำให้เธอยิ่งมั่นใจในแผนการของพระเจ้า ดังนั้น มารีย์แสดงออกถึงความชื่นชมยินดีด้วยการร้องเพลงสรรเสริญ เพื่อแสดงออกถึงการได้รับการปลดปล่อย โดยเธอกล่าวถึงความยิ่งใหญ่ของพระเจ้า และพระราชกิจต่างๆที่ผ่านพงศ์พันธุ์ของอับราฮับ ( ดู ลูกา ๑.๔๖-๔๖ ) จึงเห็นภาพของสตรีว่าพวกเธอเองก็ปลอบใจกันและกัน พร้อมอยู่เคียงข้างร่วมทุกข์เมื่ออีกคนหนึ่งท้อใจ ร่วมสุขและชื่นชมยินดีเมื่อมีสิ่งดีๆเกิดขึ้นในชีวิตสตรี