จุดเริ่มของศาสนา

เราขอพิจารณาเรื่องศาสนานี้ ตามแนวคิดของปรัชญา เมื่อเราพูดถึงจุดเริ่มนี้ เราไม่ต้องการอธิบายว่า ศาสนาได้เกิดมาอย่างไรในประวัติศาสตร์ทางเดิมของมนุษยชาติ นักวิชาการฝ่ายมนุษยวิทยาสังเกตว่า สัญลักษณ์อย่างหนึ่งของมนุษย์ คือพิธีทางศาสนา เกี่ยวกับธรรมชาติหรือเกี่ยวกับผู้ตายซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงว่า ศาสนาเป็นคุณลักษณะประจำของมนุษย์ตั้งแต่ต้น ในแง่มุมของปรัชญา เราอยากจะดูว่า ทำไมต้องมีศาสนา มีอะไรบ้างที่จะเป็นสาเหตุทำให้มนุษย์คิดว่า ต้องมีพระเป็นเจ้า หรือเทวดา หรือผี ที่อยู่สูงกว่ามนุษย์ เหนือธรรมชาติ ทำไมมนุษย์เกิดความรู้สึกว่าต้องเคารพบูชาเทพเจ้าเหล่านั้น

 

นักปรัชญาบางคนของสมัยปัจจุบัน มีทฤษฎีเกี่ยวกับสาเหตุของศาสนานี้ที่ส่งเสริม อเทวนิยม คือในสมัยโบราณ มนุษย์ได้มีความคิดว่าต้องมีพระเป็นเจ้าหรือเทพเจ้า เป็นผู้ควบคุมธรรมชาติและชีวิตมนุษย์ แต่สมัยนี้ที่มนุษย์ได้พัฒนาวิทยาศาสตร์แล้ว ไม่ต้องมีพระเป็นเจ้า มนุษย์สามารถที่จะควบคุมธรรมชาติด้วยตนเอง

อาทิเช่น บรรดาปฏิฐานนิยม ( Positivism : ทฤษฎีที่ว่าความรู้ได้จากการรับโดยตรงมากกว่าการเทียบเคียง ) ยกย่องคุณภาพและประสิทธิภาพของวิทยา-ศาสตร์ในสมัยปัจจุบัน Auguste Comte ได้ตั้งทฤษฎีของ 3 ยุค ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ยุคแรกคือยุคของศาสนา มนุษย์อธิบายทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น ทั้งในธรรมชาติหรือในชีวิตของตนว่า มีเทพเจ้าเป็นต้นเหตุ เทพเจ้าทำให้ดวงอาทิตย์ขึ้นหรือลง ทำให้ฝนตกหรือลมพัด ทำให้มีแม่น้ำไหล และทำให้ต้นไม้บังเกิดผล ชีวิตของคนก็เช่นเดียวกัน โชคชะตา ความสุข ความทุกข์ของแต่ละคนอยู่ในความดูแลของพระเจ้า เป็นเทพเจ้าที่ทำให้คนเกิดเป็นโรคหรือตาย เมื่อมนุษย์ได้ใช้ความคิดตามเหตุตามผล ก็ถึงยุคที่สองคือยุคของปรัชญา โดยเฉพาะอภิปรัชญา นักปรัชญาไม่ได้ใช้พระเจ้าเพื่อจะอธิบายโลก แต่เริ่มใช้หลักตามเหตุผล มีการพูดถึงหลักสำคัญ ๆ ของปรัชญา เช่นสารัตถะและอัตถิภาวะ กัตตุภาวะและศักยภาพ ซึ่งสามารถให้เหตุผลสำหรับการเคลื่อนไหวของธรรมชาติ โดยไม่ต้องอาศัยพระเจ้าแล้ว แต่สมัยปัจจุบันเป็นยุคที่สามที่ไม่ได้ใช้ศาสนาหรือปรัชญาแล้ว มีวิทยาศาสตร์ที่ใช้การสังเกต การทดลองและการพิสูจน์ วิธีการของวิทยาศาสตร์นี้แน่นอนกว่าศาสนาหรือปรัชญา เพราะว่าไม่เป็นจินตนาการ ไม่เป็นนามธรรมแล้ว มันตรงกับประสบการณ์ และสามารถใช้ได้เพื่อจะทำให้เกิดผล วิทยา-ศาสตร์แสดงถึงความสามารถและประสิทธิภาพของมนุษย์ มนุษย์เริ่มควบคุมธรรมชาติ โดยไม่ต้องอาศัยพระเจ้าแล้ว ยุคที่สามนี้คือความสมบูรณ์ของมนุษย์ และการขับไล่ทั้งศาสนาและอภิปรัชญาตามแนวคิดของ Comte นี้ ศาสนาเกิดขึ้นเพราะอวิชาของมนุษย์ เป็นผลของจินตนาการ ของผู้ที่ยังขาดความรู้ เมื่อวิทยาศาสตร์พัฒนาขึ้นแล้ว คนก็มีความรู้แท้ และทิ้งจินตนาการนี้ไปเลย

Feuerbach ได้มีความคิดตามแนวเดียวกัน มนุษย์ต้องอาศัยธรรมชาติเพื่อจะดำเนินชีวิตได้ สำหรับอาหารการกิน การแต่งกายหรือที่อยู่อาศัย มนุษย์ต้องใช้พืช สัตว์ และทรัพยากรธรรมชาติ แต่สภาพนี้ทำให้เกิดความไม่แน่นอนหรือความกลัว และความรู้สึกว่าตัวเองอ่อนแอ ไม่มีความสามารถอะไรเลย เพื่อจะมีข้าวกินต้องมีน้ำ ถ้าหากว่าอากาศแห้งแล้ง จะไม่มีข้าว แต่เมื่อไม่มีฝน มนุษย์ไม่สามารถทำให้มี ดังนั้นมนุษย์คิดว่ามีพระเจ้าเป็นผู้บังคับธรรมชาติและมนุษย์เริ่มสวดภาวนา ถวายบูชาแด่พระเจ้า เพื่อจะขอให้พระองค์ทำสิ่งที่มนุษย์อยากทำแต่ทำไม่ได้ นี้คือสาเหตุของศาสนา แต่ตามความคิดของ Feuerbach ศาสนานี้เป็นสิ่งที่อันตรายและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาของมนุษย์ ตราบใดที่มนุษย์ต้องอาศัยอำนาจของพระเป็นเจ้านี้ มนุษย์จะอยู่ในสภาพกลัว ไม่เป็นตัวของตัวเอง และไม่สามารถพัฒนาศักยภาพของตน เพื่อจะเป็นนายเหนือธรรมชาติ เพราะฉะนั้นเราต้องทิ้งศาสนาที่ทำให้เราเป็นทาส ต้องเข้าใจว่าอำนาจหรือคุณภาพต่าง ๆ ที่เราได้คิดว่าเป็นของพระเจ้านั้น ที่จริงเป็นคุณภาพของมนุษย์ เราควรจะพัฒนาคุณภาพต่างๆ นี้เพื่อจะทำให้เราเป็นนายเหนือตนเองและเหนือธรรมชาติ

ตามลัทธิของบรรดานักปรัชญาแบบนี้ ศาสนาเป็นท่าทีที่ล้าสมัยแล้วเป็นโลกทัศน์ของผู้ที่ยังเป็นเด็ก ขาดความรู้ ขาดความสามารถ ศาสนาได้เกิดขึ้นเพราะว่ามนุษย์ขาดความรู้และอำนาจ แต่เวลานี้ที่วิทยา-ศาสตร์ให้ความรู้และอำนาจมนุษย์ทิ้งศาสนาเลย ศาสนาและวิทยาศาสตร์เข้ากันไม่ได้

เราควรพิจารณาแนวคิดของปฏิฐานนิยมหรือของ Feuerbach ให้ดีหน่อย มีจุดหนึ่งที่จะรับว่าถูกต้อง คือศาสนาและการยอมรับว่ามีพระเป็นเจ้านั้น อยู่บนพื้นฐานของประสบการณ์ของมนุษย์เกี่ยวกับขอบเขตจำกัดของตัวเอง การยอมรับนับถือสิ่งสูงสุด ไม่ว่าจะเป็นพระเป็นเจ้า ธรรม เทพเจ้าหรือผี อยู่พร้อมกันความสำนึกว่าตัวมนุษย์เองไม่สมบูรณ์ ควบคุมชีวิตของตนหรือธรรมชาติรอบข้างทั้งหมดไม่ได้ ความสำนึกนี้มาจากประสบการณ์หลายอย่าง มนุษย์ไม่สามารถบังคับให้เหตุการณ์ต่าง ๆ ของธรรมชาติไปตามความต้องการของตน เราพึ่งจะมีประสบการณ์อย่างนี้กับเหตุการณ์น้ำท่วม แต่ไม่มีเพียงแต่ประสบการณ์เกี่ยวกับธรรมชาติแต่อย่างเดียว เพราะในเขตนี้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีช่วยขยายอำนาจ และความสามารถของมนุษย์ แต่เรายังมีประสบการณ์แบบอื่น ๆ ที่แสดงถึงความจำกัดของมนุษย์ และวิทยาศาสตร์ช่วยไม่ได้ คือความสงสัยเกี่ยวอนาคตที่ไม่แน่นอน ความหมายของความทุกข์หลายชนิด และโดยเฉพาะความตาย วิทยาศาสตร์จะก้าวหน้าเท่าไรไม่ว่าคงจะให้คำตอบกับปัญหาแบบนี้ไม่ได้เลย และความสำนึกถึงความจำกัดนี้ ทำให้มนุษย์แสวงหาความหมายและคำตอบนอกจากตัวเอง คิดว่าต้องอาศัยสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่สูงกว่าตัวเอง และความคิดแบบนี้เป็นจุดเริ่มอย่างหนึ่งของศาสนา

นอกจากประสบการณ์ที่อธิบายมาแล้วนี้ ยังมีสิ่งหนึ่งที่ปฏิฐานนิยมมองข้ามเลย คือ การติดต่อสัมพันธ์กับผู้อื่น นักปรัชญาสมัยปัจจุบันหลายท่าน ได้เริ่มจากความสัมพันธ์นี้เพื่อจะอธิบายความหมายและเหตุผลของศาสนา มนุษย์ทุกคนต้องการที่จะเปิดตัวเอง สร้างความสัมพันธ์เป็นมิตรกับผู้อื่น และการให้ความเคารพและความรักต่อผู้อื่นนั้น เป็นวิธีการพัฒนาตัวเอง เพื่อจะเป็นตัวของตัวเอง มนุษย์ทุกคนต้องการความสัมพันธ์หรือมิตรภาพกับผู้อื่นด้วย ความรักเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในชีวิตของเรา ความสัมพันธ์กับผู้อื่น หรือการยอมรับแนวคิดของผู้อื่นที่แตกต่างจากแนวคิดของฉัน ทำให้ฉันสำนึกว่า ฉันเองยังไม่รู้ทุกอย่างไม่เป็นจุดศูนย์กลางของทุกอย่าง ความรู้ของฉันไม่ใช่ความจริงทั้งครบ เพราะว่าผู้อื่นมองความจริงในแง่ที่แตกต่างจากฉัน เรื่องนี้คือประสบการณ์ชนิดหนึ่งที่ทำให้เรายอมรับว่า ความจริง ความดี ทั้งครบอยู่สูงกว่าเรา เป็นความสำนึกถึงขอบเขตจำกัดของมนุษย์ในอีกรูปหนึ่ง และเป็นทางทำให้มนุษย์ยอมรับว่า จำเป็นต้องเปิดตัวเองสัมพันธ์กับสิ่งอื่นหรือผู้ที่เป็นความจริงและความดีสูงสุด นี้เป็นหนทางอีกอย่างหนึ่งของศาสนาและความเชื่อในชีวิตมนุษย์ ที่ปฏิฐานนิยมไม่ได้พิจารณา