2. ทำไมวิทยาศาสตร์เป็นปัญหา

เนื้อหาของศาสนาและเนื้อหาของวิทยา-ศาสตร์แตกต่างกันมาก ทั้งสองอยู่ต่างระดับ และไม่น่าจะมีการกระทบต่อกันและกัน แต่ถ้าหากว่าเราจะมองดูสิ่งที่เกิดขึ้นและแนวคิดของหลาย ๆ คน เราก็เห็นว่าคนใช้วิทยา-ศาสตร์เป็นการต่อต้านศาสนา ตามรูปแบบของปฏิฐานนิยม ที่ใช้ข้อมูลของวิทยาศาสตร์เพื่อจะปฏิเสธพระเป็นเจ้า แน่นอนประสิทธิภาพของวิทยาศาสตร์ ทั้งในการอธิบายให้เหตุผล และในด้านปฏิบัติและการประยุกต์เพิ่มความสำคัญ และน้ำหนักของมันในโลกทัศน์ของมนุษย์ในสมัยปัจจุบัน แต่ทำไมบางคนสรุปว่าโลกทัศน์ของศาสนาเป็นเพียงแต่จินตนาการหรือภาพหลอกตา ? เราจะขออ้างถึงสามประการช่วยให้คำตอบบ้าง

ประการแรกเกี่ยวข้องกับวิธีการเฉพาะของวิทยาศาสตร์ เมื่อวิทยาศาสตร์สังเกตค้นคว้าและอธิบายปรากฏการณ์ของโลก ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวของจักรวาลหรือชีววิทยา จำเป็นต้องอยู่ภายในวงของสิ่งที่สัมผัสและทดลองได้ พระเป็นเจ้าหรือสิ่งที่อยู่นอกเหนือธรรมชาติ ก็อยู่นอกเหนือวิธีการของวิทยาศาสตร์ด้วย หมอที่กำลังพิจารณาคนป่วย จำเป็นต้องหาเหตุผลของโรคในระบบโครงสร้างของร่างกาย ถ้าจะบอกว่าโรคมาจากพระเป็นเจ้าหรือเป็นผีที่ทำให้เกิดขึ้น หมอออกจากวิธีการของวิชาแพทยศาสตร์ เช่นเดียวกันผู้ที่พยากรณ์อากาศต้องหาเหตุผลของพายุที่เกิดขึ้นในกฎของธรรมชาติเอง โดยไม่ต้องอ้างถึงพระเป็นเจ้า แต่วิธีการนี้ ไม่ได้แสดงหรือพิสูจน์ว่า ไม่มีพระเป็นเจ้า สิ่งเดียวที่ปรากฏนี้คือการมีอยู่ของพระเป็นเจ้าอยู่นอกขอบเขตของวิทยาศาสตร์ และนักวิทยาศาสตร์ไม่ควรจะใช้ข้อมูลของวิทยา-ศาสตร์เพื่อจะยืนยันหรือปฏิเสธสิ่งที่อยู่นอกขอบค่ายของมัน

อีกประการหนึ่งขึ้นกับวัฒนธรรมประเพณีของโลกตะวันตก แนวความคิดของชาวตะวันตกไปตามรูปแบบของเหตุผลนิยม ในด้านความรู้คนยุโรปต้องการเข้าใจ ต้องสามารถให้เหตุผลหรือพบข้อพิสูจน์สำหรับทุกอย่างได้ ในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับศาสนาก็เช่นเดียวกัน นักปรัชญาส่วนใหญ่ได้พยายามหาเหตุผลหรือพิสูจน์การมีอยู่ของพระเป็นเจ้า เมื่อได้เจอประสิทธิภาพของวิธีการต่างๆทางวิทยาศาสตร์ในการให้เหตุผล และข้อพิสูจน์แล้ว ได้มีแนวโน้มที่จะใช้วิธีเดียวกัน เพื่อจะพิสูจน์พระเป็นเจ้าได้ แต่เมื่อสังเกตว่าวิธีนั้น ไม่สามารถพิสูจน์ได้แล้ว คงจะปล่อยให้ศาสนาเป็นเรื่องของความเชื่อแต่อย่างเดียว คือเรื่องของความรู้สึกส่วนตัว ถ้าหากว่าพระเป็นเจ้าและข้ออื่นของศาสนาเป็นสิ่งที่จะพิสูจน์ไม่ได้แล้ว ตามที่ Kant ได้แสดงในการวิเคราะห์ความรู้ของมนุษย์ ก็ทำให้เกิดแนวโน้มว่าเป็นสิ่งที่ไร้สาระ ถ้าไม่มีเหตุผลก็ควรจะทิ้งไปเลย สิ่งที่เป็นความจริงคือสิ่งที่มีเหตุผลแต่อย่างเดียว และเนื่องจากว่าการพัฒนาของวิทยาศาสตร์ สามารถให้เหตุผลสำหรับหลายสิ่งหลายอย่างที่เคยเป็นข้อลึกลับในสมัยก่อน หลายคนคิดว่าขอบเขตของความเชื่อหรือศาสนานั้น แคบลงมากขึ้นทุกวัน เริ่มมีการยืนยันว่า ทีละนิดทีละน้อยวิธีการของวิทยาศาสตร์จะสามารถอธิบายทุกสิ่งได้ ถ้ามนุษย์ได้ใช้ศาสนาและพระเป็นเจ้าเพื่อจะอธิบายสิ่งที่ไม่มีเหตุผล วันหนึ่งจะมาถึงแล้วที่เราจะไม่ต้องการพระเป็นเจ้าแล้ว เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะมีเหตุผลอย่างชัดแจง สำหรับคนที่มีแนวคิดเหตุผลนิยมแบบนี้ ศาสนาซึ่งเป็นสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้อยู่แล้ว จะต้องสลายไป และวิทยาศาสตร์จะต้องขึ้นมาแทน

ประการที่สาม คือ ความคิดที่เรามีเกี่ยวกับพระเป็นเจ้า ผู้ที่เชื่อถึงพระเป็นเจ้านั้น มองดูพระเป็นเจ้าอย่างไร มีสิ่งหนึ่งที่เราต้องยอมรับคือความเข้าใจถึงพระเป็นเจ้าหลายครั้ง แสดงออกในรูปแบบที่เป็นการชดเชยความจำกัดของวิทยาศาสตร์ หลายคนคงจะยอมรับวิธีการและผลของวิทยาศาสตร์ แต่เมื่อจะพบปัญหาที่วิทยาศาสตร์ตอบไม่ได้ ก็จะบอกว่าเหตุผลหรือการตอบคือพระเป็นเจ้า เช่นเรื่องจุดเริ่มของมนุษยชาติ คงยอมรับทฤษฎีวิวัฒนาการโดยทั่วไป แต่เมื่อจะพบปัญหาเรื่องการต่อเนื่องจากสัตว์ถึงมนุษย์ จะเห็นว่าวิทยาศาสตร์ยังมีปัญหาในการหาข้อมูลพอที่จะยืนยันว่า มนุษย์มาจากสัตว์ หลายคนคงจะบอกว่ามนุษย์ไม่ได้มาจากสัตว์ แต่มาจากพระเป็นเจ้า คือพระเป็นเจ้าได้สร้างมนุษย์โดยตรง ความคิดแบบนี้คงจะทำให้เกิดการเข้าใจผิด คือทำให้พระเป็นเจ้าเป็นสาเหตุอย่างหนึ่งภายในกระบวนการของธรรมชาติ ความคิดแบบนี้เป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์จะรับไม่ได้ เพราะว่าไม่มีทางที่พระเป็นเจ้าจะเป็นปรากฏการณ์เหมือนปรากฏการณ์อื่น ๆ ของธรรมชาติที่สังเกตหรือสัมผัสได้ พระเป็นเจ้าคงเป็นสาเหตุสร้างมนุษย์ขึ้นมา แต่เป็นสาเหตุที่อยู่นอกกระบวนการของธรรมชาติ ไม่มีทางที่นักวิทยาศาสตร์จะพบพระเป็นเจ้าในการสังเกต วิเคราะห์หรือทดลองปรากฏการณ์ทางกายภาพ เช่นเดียวกันวิธีพิสูจน์การมีอยู่ของพระเป็นเจ้าที่อยากแสดงว่า พระเป็นเจ้าเป็นผู้สร้างโลกจักรวาล เป็นข้อพิสูจน์ที่นักวิทยาศาสตร์ไม่ค่อยยอมรับ เราอาจจะเปรียบเทียบโลกจักรวาลที่ซับซ้อนมากและมีระเบียบกับเครื่องจักร นาฬิกาหรือบ้านใหญ่โตและสวยงาม เครื่องจักรนาฬิกาหรือบ้านนั้นต้องมีคนวางแผนและสร้างไว้ให้เป็นแบบนี้ เช่นเดียวกัน โลกจักรวาลต้องมีผู้ใดผู้หนึ่งวางแผนและสร้างไว้และผู้นี้แหละคือพระเป็นเจ้า นักปรัชญาหลายคนได้ตั้งข้อสังเกต เกี่ยวกับการเปรียบเทียบนี้ว่าไม่เพียงพอและใช้ได้ยาก ข้อพิสูจน์นี้ทำให้คิดว่าต้องมีปฐมเหตุของโลกก็จริง แต่ไม่มีอะไรที่แสดงว่าปฐมเหตุนี้มีลักษณะที่แตกต่างจากสาเหตุอื่น ๆ ทางกายภาพ ยังไม่มีอะไรที่แสดงว่าผู้ที่เป็นปฐมเหตุนั้นเป็นผู้เดียวกับพระเป็นเจ้าที่ศาสนาเคารพนับถือ มีวิธีใช้การพิสูจน์แบบนี้ที่ไม่ได้แตกต่างจากวิธีการของวิทยาศาสตร์ และคนที่มีเหตุผลเพียงแต่แค่นี้ เพื่อจะเชื่อถึงพระเป็นเจ้า คงได้รับการกระทบมากจากการก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ ข้อพิสูจน์ตามเหตุตามผลแบบนี้อาจจะมีประโยชน์น้อยทีเดียว และยังไม่เพียงพอเพื่อจะสร้างพื้นฐานที่แน่นอนสำหรับความเชื่อถึงพระเป็นเจ้า

ข้อสังเกตทั้งสามประการนี้ แสดงว่าวิทยาศาสตร์และศาสนาไม่ได้อยู่ในระดับเดียวกัน ตราบใดที่จะอยู่ภายในวิธีการและขอบค่ายของวิทยาศาสตร์ คงไม่มีทางที่จะพบพระเป็นเจ้าหรือหลักสำคัญของศาสนาพระเป็นเจ้าหรือสิ่งสูงสุดที่มีความสำคัญในชีวิตมนุษย์และทำให้ชีวิตนั้นมีความหมาย ก็เป็นอุตรภาพ คืออยู่นอกเหนือเขตของปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่จะสัมผัสได้ และเพื่อจะมุ่งไปถึงระดับของอุตรภาพนั้นจำเป็นต้องใช้วิธีการที่ไม่เป็นวิธีของวิทยาศาสตร์